COLUMNIST

2 สุดยอดพลังงานสีเขียวแห่งปีมะเมีย เพชรแท้จากสมาชิก ส.อ.ท.
POSTED ON -


 

เมืองไทยมีคนเก่งและมีวิสัยทัศน์ระดับแนวหน้าในอาเซียนมากมาย บทความนี้จึงขอยกตัวอย่างสุดยอดพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสีเขียว เป็นพลังงานสะอาดของสมาชิก ส.อ.ท. 2 ราย ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่า "ยักษ์ใหญ่" และ "ยักษ์เล็ก"

 

ยักษ์ใหญ่นั้นใหญ่ทั้งขนาดของโครงการ ใหญ่ทั้งขนาดของกิจการ และใหญ่ทั้งผลงานระดับโลก นั่นก็คือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF จากขยะ เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีขนาดใหญ่กว่า 100 MW ส่วนยักษ์เล็กนั้นแม้ขนาดของโครงการและขนาดของกิจการจะเล็ก แต่ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการส่งออกเทคโนโลยี Gasification ขนาด 1 MW ไปยังประเทศญี่ปุ่น

 

สองโครงการนี้สร้างความฮือฮาในวงการพลังงานทดแทน สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างแนวคิดใหม่ๆ สร้างฮีโร่ขึ้นมาอย่างน้อย 2 ราย สร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจเอสเอ็มอี สร้างความรู้สึกดีๆ ให้มวลชน บริษัทยักษ์ใหญ่ก็พร้อมเสี่ยงลงทุนธุรกิจเพื่อโลก แม้เรื่องดีๆ ทั้งสองจะถูกบดบังด้วยข่าวการเมือง แต่เพชรแท้ก็พร้อมจรัสแสงในทุกๆ สถานการณ์ และไม่หายไปกับกาลเวลา ยังพร้อมจะเป็นข่าวใหญ่รับรัฐบาลใหม่ในอนาคต

 

ยักษ์ใหญ่ : บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

 

TPIPL POWER มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิง RDF จากขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมกว่า 5,000 ตันต่อวัน โดยเริ่มต้นโรงไฟฟ้าโรงแรกที่ 20 MW ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมจ่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในปีนี้ ส่วนอีก 60 MW ได้รับอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ในขณะนี้

 

นอกจากนี้ทาง TPIPL POWER ยังมีโรงไฟฟ้าซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับใบอนุญาตอีก 90 MW ท่านสมาชิกที่เป็นลูกค้าปูนซิเมนต์ของ TPIPL อาจสงสัยว่าค้าปูนซิเมนต์อยู่ดีๆ ทำไมมาทำธุรกิจขยะ จึงขอทำความเข้าใจว่า ในตลาดโลกนั้นยักษ์ใหญ่แห่งวงการปูนซิเมนต์ระดับโลกได้พยายามปรับธุรกิจปูนซิเมนต์ให้เป็น Green Cement โดยมีส่วนหนึ่งของเชื้อเพลิงมาจากขยะประมาณ 5-10% ทำให้โรงงานปูนซิเมนต์ในประเทศไทยต้องปรับตัวตาม แต่สำหรับ TPIPL ได้ก้าวข้าม CSR และปรับวิสัยทัศน์สร้างเป็นธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ โดยลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาทสร้างโรงงานคัดแยกผลิตเชื้อเพลิงจากขยะคุณภาพสูงที่เราเรียกว่า "RDF" (Refuse Derived Fuel) โดยทางยุโรปจะเรียก RDF คุณภาพสูงนี้ว่า "SRF" (Solid Recovery Fuel) ทำให้ TPIPL POWER บริษัทลูกของ TPIPL ก้าวมาอยู่แถวหน้าด้านพลังงานจากขยะในระดับโลกเพียงชั่วข้ามคืน โดยมีสถานทูตจากหลายๆ ประเทศขอเข้าชมงานตั้งแต่โรงไฟฟ้ายังไม่เสร็จเรียบร้อย

 

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั่วไป สามารถแบ่งส่วนสำคัญๆ ออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

 

1. ส่วนการแปลงขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF : เป็นส่วนสำคัญที่สุดของโครงการพลังงานขยะทั้งหลาย ในส่วนนี้ประกอบด้วยเครื่องย่อยและคัดแยกหลายขั้นตอน จนสุดท้ายออกมาเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพสูง ค่าความร้อน 3,500-4,500 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม โดยคัดแยกส่วนที่เป็นเศษแก้ว หิน ดิน ทราย และส่วนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงไม่ได้ออกไปกำจัดด้วยวิธีการอื่น ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ก็จะถูกนำไปขายเป็นรายได้ของโครงการ

 

2. ส่วนจัดการขยะอินทรีย์ : ขยะอินทรีย์กว่า 50% จะถูกคัดแยกจากขั้นตอนแรก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 2 วิธี คือ (1) หมักทำปุ๋ย และ (2) ผ่านกระบวนการทางชีวภาพ เพื่อลดความชื้นและนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า สำหรับ TPIPL POWER ใช้วิธีการแรก คือใช้หมักปุ๋ย และกำลังศึกษาวิธีการที่ 2 เพื่อทำควบคู่กันไป

 

3. ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล SRF/ RDF : จากกระบวนการย่อยคัดแยกประสิทธิภาพสูงนี้จะทำให้เชื้อเพลิง RDF มีค่าการปลดปล่อยสารเจือปนในอากาศน้อยกว่าถ่านหินถึง 3 เท่า จึงเชื่อได้ว่าชุมชนจะปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งชาว ส.อ.ท. ขอปรบมือให้โครงการเพื่อโลกยกกำลัง 2 ของ TPIPL POWER

 

 

ยักษ์เล็กแห่งวงการพลังงานทดแทน : บริษัท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ จำกัด

 

ฮีโร่เทคโนโลยี ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ก็คือ นายจักรพันธ์ อริยะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บจก.อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Gasification และส่งออกโรงไฟฟ้าขนาด 1 MW โดยใช้เศษไม้และของเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมมาเป็นเชื้อเพลิง

 

โดยเริ่มต้นโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 50 kW และพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ขนาด 150 kW ที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยี Gasification แห่งแรกที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจนถึงปัจจุบัน ส่วนภาพที่เห็นคือ โรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 500 กิโลวัตต์ ที่สร้างให้กับ บจก. สลักเพชร รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ และประสบความสำเร็จจนสร้างชื่อเสียงไปทั่วทั้งภูมิภาค

 

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยี Gasification แล้ว นายจักรพันธ์ยังมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมในการช่วยเหลืองานส่วนรวมหลายๆ แห่ง อาทิ ตำแหน่งรองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ที่เป็นบทบาทหนึ่งที่น่าจะเป็นหลักประกันความสามารถและเพียงพอที่จะเข้าตากรรมการประเทศคู่สัญญาอย่างญี่ปุ่นที่ยอมรับในความสามารถ ความอุตสาหะ และความมีน้ำใจ

 

ยิ่งกว่าไปนั้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ยักษ์เล็กฮีโร่เทคโนโลยีบินไปลงนามในสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้า Gasification ขนาด 1 MW แบบ Fixed Bed Downdraft โดยใช้ซากปรักหักพังจากสึนามิที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เป็นเชื้อเพลิงหลัก กับ SS World Co., Ltd. (Japan) โดยกำหนดแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบภายในเดือนสิงหาคม 2557 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการ Gasification เมืองไทย บรรดางบประมาณวิจัยที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ คงต้องเปลี่ยนไปวิจัยโจทย์อื่น ส่วนการจัดซื้อของภาครัฐคงต้องให้ความสนใจเทคโนโลยีของคนไทยให้มากขึ้น

 

 

ท่านสมาชิกและกลุ่มเครือข่าย รวมทั้งผู้สนใจธุรกิจพลังงานทดแทน ที่สนใจรับข่าวสารจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน แต่ไม่สะดวกที่จะสมัครสมาชิก ท่านสามารถสมัครเป็นเครือข่ายพลังงานทดแทนเพื่อรับข่าวสารต่างๆ โดยสามารถส่งข้อมูล ชื่อนามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก พร้อมอีเมลส่วนตัวมาได้ที่ tinsuntisook@yahoo.com หากมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าท่านเป็นใคร ทำธุรกิจด้านใด ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวท่านเอง ในกรณีที่มีการจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าชาวต่างประเทศ ท่านจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย